เกาะหวาย ปะการัง ... พักผ่อนกับกิจกรรมอนุรักษ์
เกาะหวายเป็นเกาะเล็กๆที่ห่างจากท่าเรือจังหวัดตราดเพียง 45 นาทีโดยใช้ Speed Boat ข้ามมา ส่วนเรือไม้ธรรมดาจะใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมงครึ่งหากมากันแต่เช้าคงมีเวลามากพอที่จะ เที่ยวแบบเช้ากลับเย็นได้เลยทีเดียว แต่พอมาถึงไม่นานก็ต้องรีบกลับกันแล้ว คงจะได้ความสนุกและความรู้อะไรไม่เท่าไหร่คิดว่าต้องค้างกันสักคืนเป็นการทำกิจกรรมนอกสถานที่
หากวันพักผ่อนสุดสัปดาห์ของคุณมีจำกัด การใช้เวลาให้คุ้มค่าย่อมมีความหมายจากกรุงเทพฯเพียง 4 ชม. เราก็จะสามารถไปถึงแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการเรียนรู้ ที่มีกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และบุคคล ทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทางทะเล คุณจะได้สัมผัสกับทะเลสวยงามน้ำใสๆ และธรรมชาติที่รายล้อมรอบตัวเราด้วยความรู้สึกสดชื่นของกลิ่นของทะเลและป่าที่ไม่มีการเติ่มแต่งให้เสียความรู้สึกเมื่อคุณเดินทางมาถึงท่าเรือเกาะหวาย
ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงเกาะที่สวยงามและน้ำทะเลใสเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์อนุรักษ์ทางทะเลอีกด้วย คุณจะได้พบการเพาะพันธ์ุเลี้ยงดูเต่าทะเล ณ ที่นี่ทุกปีก็จะมีการปล่อยเต่าทะเล กลับสู่ทะเลอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอนุรักษ์ ที่อยากให้ทุกท่านมีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมสักครั้งในีวิต
แต่ความน่าสนใจของทะเลเกาะหวายไม่ได้หมดแค่นั้น เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเราจะได้เห็น สะพานไม้ที่ยื่นออกมาในทะเลที่สร้างเป็นท่าเรือ (เป็นจุดถ่ายรูปที่สวยงามที่เดียว) ที่จุดนี้คุณจะพบกับอาคารกลางทะเลหลังใหม่ ที่ทาง มูลนิธิ ICEF (มูลนิธิวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ : International Cultural and Education Foundation : ICEF) ร่วมกับ อ.ประสาน แสงไพบูลย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ร่วมกันสร้างให้มันเป็นศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ปะการัง ขึ้นมา
สิ่งที่เราจะพบไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ ให้ปะการังดำรงค์อยู่ แต่เราเพาะและปลูกมันขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมากใต้ทะเล ณ ที่เดินทางมาแห่งถึงนี้นับพัน นับหมื่นต้น ที่คนจำนวนมากร่วมกันปลูก การดำน้ำตื่นชมปะการังที่ เกาะหวายจึงไม่ธรรมดา เพราะเราจะได้เรียนรู้วิธีการอนุรักษ์ ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในโลก
น้ำที่สวยใสใต้ทะเล ปะการังเขากวางอีกจำนวนมากที่ถูกเพาะพันธ์ที่นี่จะถูกส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ เกาะหวายจึงเหมือนกับเป็นที่อนุบาลปะการังเหล่านี้ ก่อนที่จะไปเติบโตเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำใต้ทะเลในที่ต่างๆต่อไป
โครงการที่ว่า เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในชื่อว่า ธนาคารปะการัง หลังจากที่ อ.ประสาน และมูลนิธิ ICEF บุกเบิก ร่วมกันมานาน หลายปี จนได้ งานวิจัยที่ช่วยฟื้นฟู ปะการัง และพื้นที่ขยายพันธ์ ที่ดีอย่างเกาะหวาย ที่มีแดดดี น้ำสะอาด อุณหภูมิเหมาะสม คลื่นไม่แรง ปะการังที่นี้จึงเติบโตเร็วกว่าการปลูกในที่อื่นๆ ในระยะเวลา 2 ปีโตถึง 1 ฟุต
และปะการังต้นหนึ่งก็นำมาขยายพันธ์ได้อีก 20-30ต้น จึงเริ่มมีโครงการที่จะทำให้ที่นี่เป็นธนาคารปะการัง (Coral Bank ) อีกด้วย และนี้ก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากๆ มีที่เราจะมีโอกาสทำเพื่อโลกของเรา ประเทศของเรา ธรรมชาติของเรา ทะเลของเรา และเพื่อเราจะมีความสุขกับการได้เห็นและสัมผัสธรรมชาติที่งดงามอย่างนี้ไปอีกนานๆ
ณ วันนี้เกาะหวายจึงไม่ใช่เพียงแค่เกาะ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลธรรมดา แต่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีความงดงามตามธรรมชาติ อย่างมาก และนับจากนี้มันกก็จะเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์การอนุรักษณ์ของความพยายาม ในการอนุรักษ์และการร่วมมือของผู้คนจำนวนมากที่จะช่วยกันขยายพันธ์ปะการัง วันหนึ่งเราอาจจะมีโอกาสได้เห็น สวนปะการังใต้น้ำที่งดงามอย่างที่เราได้เห็นสวนสวยงามบนบกกันมาแล้ว
ถ้าโครงการได้รับการสนับสนุนอย่างดีต่อเนื่อง และได้รับควมสนใจ จากนักท่องเที่ยว นักดำน้ำ ทะเลตราดคงกลายเป็นสวรรค์ ของผู้คนไปอีกนาน ปลูกต้นไม้กันมากแล้วมาปลูกปะการังกันบ้างครับ ....เพื่อทะเลไทย การเดินทางเกาะหวาย อ. กิ่งอำเภอเกาะช้าง จ. ตราดสามารถใช้เส้นทาง เส้นทางจากมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงหมายเลข 7 ทางหลวงพิเศษกรุงเทพฯ-ชลบุรี) ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ มาถึงท่าเรือที่จะข้ามไปเกาะหวายจะนับเป็นเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง
โครงการขยายพันธ์ุปะการังด้วยท่อพีวีซี ติดต่อมูลนิธิ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์
แม้ทะเลไทยจะได้ชื่อว่าสวยงามและโด่งดังไปไกลทั่วโลก แต่ในวันนี้สภาพการณ์ของท้องทะเลไทยหลายๆแห่งกลับตกอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง ทั้งทรัพยากรชายฝั่ง ใต้น้ำ รวมไปถึงปะการัง หนึ่งในทรัพยากรสำคัญแห่งท้องทะเล ที่ปัจจุบันปะการังบ้านเราถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมากจากหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การทำประมงผิดวิธี การถูกทำลายจากนักท่องเที่ยวทั้งที่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การทิ้งขยะ-น้ำเสียลงทะเล สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ภัยธรรมชาติ(ดังกรณีสึนามิ)ฯลฯ นอกจากนี้สภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเสื่อมสภาพของปะการัง ด้วยเหตุนี้ทางมูลนิธิวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ(International Cultural and Education Foundation : ICEF) โดย ดร.คริสโตเฟอร์ คิม (ดร.คิม) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูแนวปะการังใต้ท้องทะเล จึงได้ร่วมมือกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน(อพท.)และอีกหลายหน่วยงาน จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนขึ้น ซึ่งทาง ICEF และ อพท. ได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดร.คิม ผู้ก่อตั้ง ICEF ได้เปิดเผยถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาการทำงานของ ICEF ที่เน้นในการทำประโยชน์สุขต่อสังคม ต่อสาธารณะ ซึ่งหลังจากได้รับรู้ถึงสภาพความเสื่อมโทรมของแนวปะการังหลายๆจุดในหมู่เกาะช้าง และในอ่าวเกาะหวายที่ตนมีโอกาสได้มาสัมผัสโดยตรง จึงคิดว่าน่าจะทำโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลขึ้นมาในบริเวณ เกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท อันเป็นที่ดินที่ได้ครอบครองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2548 ดร.คิม เล่าต่อว่า ช่วงแรกของการฟื้นฟูก็เป็นไปในแนวทางทั่วไป อาทิ การทำความสะอาดพื้นที่ การเก็บขยะในทะเล ในป่า และหน้าหาด ไปทิ้งบนฝั่ง จนต่อมาได้มีโอกาสรู้จักกับ อาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์สัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการอนุรักษ์ปะการัง และเป็นผู้ริเริ่มการปลูกปะการังในท่อพีวีซี
หลังจากนั้นทาง ICEF กับ อ.ประสาน จึงร่วมมือกันจัดทำโครงการทดลองปลูกปะการังขึ้นในราวปี 2549 ซึ่ง สุพรชัย สุทธิมาก ผู้จัดการโครงการนี้ได้เปิดเผยว่า ช่วงแรกของการเข้ามาอยู่เกาะหวาย(ปี 2548) บนเกาะนี้มีขยะอยู่เกลื่อนไปหมด ทั้งบนบกและในทะเล ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง แมลงวันก็เยอะ จึงต้องใช้เวลา 6 เดือนแรกที่มาอยู่บนเกาะหวายให้คนงานเก็บขยะอย่างเดียว
หลังเก็บขยะทำความสะอาดเราก็เริ่มโครงการทดลองปลูกปะการังขึ้นในปี 2549 ที่บริเวณอ่าวบริเวณหน้าเกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยซากปะการัง ผิดกับในอดีตที่ปะการังบริเวณนี้สมบูรณ์สวยงาม สุพรชัย เล่าความหลังให้ฟัง สำหรับ อ.ประสาน แสงไพบูลย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการปลูกปะการัง เท้าความถึงที่มาของโครงการปลูกปะการังในท่อพีวีซี ว่าเมื่อมนุษย์สามารถขยายพันธุ์ต้นไม้ได้ก็น่าจะขยายพันธุ์ปะการังได้ จึงได้ทำการทดลองเพาะเลี้ยงปะการังที่อยู่ในสภาพแตกหักด้วยท่อพีวีซีขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกใน ปี พ.ศ. 2538 ณ บริเวณหาดแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งก่อนหน้านั้นตนได้คิดค้นหาวิธีการปลูกปะการัง และวัสดุที่ใช้รองรับคล้ายกระถางในการปลูกพืชมาอย่างหลากหลาย แต่สุดท้ายก็มาลงตัวที่ท่อพีวีซี
ที่ผ่านมามีคนตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการปลูกปะการังในท่อพีวีซี แต่จากการทดลองพบว่า พีวีซีมีคุณสมบัติที่ดีที่สุด คงทน อยู่ได้นาน ประหยัด ทำง่าย และสามารถนำแปลงพีวีซีเพาะปะการังนำกลับมาใช้ได้หลายหน ในขณะที่วัสดุอื่นที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ ดินเผา กลับมีปัญหาต่อการปลูกปะการัง ไม้ไผ่ปลูกแล้วผุกร่อนง่าย ส่วนดินเผาแตกหักง่าย ที่สำคัญคือ เท่าที่ทดลองมาพบว่าปะการังจะไม่เกาะ ไม่เติบโตในวัสดุใดๆได้ดีเท่ากับพีวีซีที่ถือว่ามีความเสถียร เมื่อนำไปขยายพันธุ์ในทะเล ไม่เพียงปะการังเท่านั้นที่เติบโต แต่พีวีซียังเป็นวัสดุที่มีหอย ฟองน้ำ และตัวอ่อนของสัตว์อื่นๆมาเกาะ อาศัยอยู่เร็วที่สุดหากเทียบกับวัสดุอื่นๆ
อ.ประสาน อธิบาย ถึงข้อดีของพีวีซีในการปลูกปะการัง ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สำหรับ อ.ประสาน เขายังคงเดินหน้าทำการวิจัย ทดลอง และพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถทำการขยายพันธุ์ปะการังในท่อพีวีซีได้ โดยหลังเริ่มทดลองปลูกอย่างจริงจัง ต่อมาเขาได้ทำการปลูกและอนุบาลปะการังเขากวางขึ้นในปี 2541 ก่อนจะจัดตั้งเป็นโครงการขยายพันธุ์ปะการังจำนวน 10,000 ต้นขึ้นในปี 2546 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีปะการังเพียงพอในการฟื้นท้องทะเลไทยและเก็บบางส่วนไว้เป็นต้นพันธุ์สำหรับการขยายพันธุ์ต่อไป
มีหลายๆคนแสดงความเป็นห่วงท้วงติงว่า มนุษย์ไม่น่าที่จะปลูกปะการังแต่น่าที่จะปล่อยธรรมชาติคอยฟื้นฟูปะการังที่เสียหายเสื่อมโทรมด้วยตัวของมันเอง ซึ่งสำหรับผมเห็นว่ากว่าจะรอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวของมันเองก็คงไม่ทันการณ์ เพราะปัจจุบันการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์นั้นอยู่ในขั้นรุนแรงและรวดเร็ว ฉะนั้นการปลูกปะการังจึงเป็นการช่วยเร่งให้ปะการังฟื้นตัวและขยายพันธุ์มากขึ้น จะว่าไปมันก็เป็นแนวทางเดียวการปลูกป่าที่มนุษย์เป็นตัวช่วยเร่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก หลังจากทำการทดลองปลูกปะการังในท่อพีวีซี จนมีชื่อเสียงและมีคนยอมรับ อ.ประสานกับทีมงานนักวิจัยและลูกศิษย์ จึงได้ร่วมกับ ICEF ทำการทดลองปลูกปะการังในสถานที่จริง(นอกแปลงทดลอง)ขึ้นที่อ่าวหน้าเกาะหวายปะการัง รีสอร์ท แห่งเกาะหวาย หมู่เกาะช้าง จ.ตราด โดยการขยายพันธุ์ปะการังในแปลงพีวีซีในขั้นต้นนี้จะเลือกขยายพันธุ์เฉพาะแต่ปะการังเขากวางเท่านั้น
อันที่จริงจากการทดลอง ณ วันนี้ นอกจากปะการังเขากวางแล้ว ยังมีปะการังอีกหลายชนิดสามารถขยายพันธุ์ได้ดีในท่อพีวีซี แต่เหตุที่เลือกปลูกเฉพาะปะการังเขากวาง เพราะนี่เป็นปะการังนำร่อง เนื่องจากปะการังเขากวางสามารถเติบโตขยายพันธุ์ด้วยตัวมันเองได้เร็ว เมื่อปะการังเขากวางโต ก็จะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย เข้ามาอยู่อาศัย นอกจากนี้การเติบโตของปะการังเขากวางยังกระตุ้นให้ปะการังชนิดอื่นในพื้นเติบโตตามอีกด้วย โดยปะการังเขากวาง 1 ต้น สามารถขยายพันธุ์เพิ่มได้ถึง 28-30 ต้น เลยทีเดียว อ.ประสานกล่าว พร้อมกับบอกว่าสำหรับการแปลงทดลองขยายพันธุ์ปะการังในท่อพีวีซีที่เกาะหวายมี 2 แบบ คือแปลงกิ่งพันธุ์เพื่อการฟื้นฟูจะมี 43 ต้นต่อแปลง และแปลงกิ่งพันธุ์ที่ใช้เป็นแม่พันธุ์จะมี 14 ต้นต่อแปลง ซึ่งการปลูกปะการังในท่อพีวีซีนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มจากการนำปะการังขึ้นมาจากแปลงอนุบาล แล้วตัดหรือหักกิ่งปะการัง(กิ่งเล็กๆ)ที่จะใช้ขยายพันธุ์ ทำรหัสประจำปะการัง(เพื่อใช้ในการสืบค้นในอนาคต) จากนั้นจึงปักกิ่งปะการังในท่อพีวีซีแล้วทำการยึดด้วยน้อต ก่อนนำไปยึดในแปลงพีวีซี แล้วจึงให้นักดำน้ำนำไปจัดเรียงและปลูกใต้ท้องทะเลต่อไป และด้วยความที่อ่าวหน้าเกาะหวาย ปะการังฯ มีสภาพน้ำใส สะอาด อุณหภูมิเหมาะสม คลื่นลมไม่แรง จึงทำให้แปลงปะการังเขากวางที่ปลูก ได้ผลเติบโตสมบูรณ์เกิดคาด โดยระยะเวลา 2 ปีที่ปลูก ปะการังจะโตเฉลี่ยถึงราวๆ 1 ฟุต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สุพรชัย(ผู้จัดการโครงการ)และ อ.ประสานมีความคิดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้น่าที่จะมีการจัดทำโครงการธนาคารปะการัง(Coral Bank)ขึ้น โดยใช้ปะการังจากแปลงที่เกาะหวายและที่หาดแสมสาร เพื่อใช้สำหรับการทดลองขยายพันธุ์ตามพื้นที่ต่างๆทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่
เมื่อมีธนาคารปะการังเกิดขึ้น ใครที่ต้องการทดลองขยายพันธุ์ปะการังขอสามารถติดต่อขอมาได้ แต่เมื่อนำปะการังที่เพาะไว้ไปปลูกทางฝั่งอันดามันหรือพื้นที่อื่นๆ บางทีอาจจะไม่เติบโต หรืออาจจะเติบโตได้ดีกว่าทะเลทางเกาะช้างก็ได้ เพราะมันมีสภาพพื้นที่ต่างกัน ซึ่งหากใครจะนำไปปลูกควรทำการศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้นเสียก่อนสุพรชัยกล่าว
นอกจากการขยายพันธุ์ปะการังแล้ว โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ยังมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลอีกหลายอย่าง อาทิ การอนุบาลสัตว์น้ำหายาก การปล่อยเต่าทะเล ปลาการ์ตูน หอยเป๋าฮื้อ ดอกไม้ทะเล และอื่นๆ รวมไปถึงการจัดสร้างศูนย์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรทางทะเลขึ้น สำหรับศูนย์แห่งนี้เป็นอาคาร 8 เหลี่ยม เปิดโล่ง อันถือเป็นสัญลักษณ์ใหม่แห่งเกาะหวาย สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ อบรม จัดนิทรรศการ อบรม และให้ข้อมูลต่างเกี่ยวกับทรัพยากรทางทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ดำน้ำ นักท่องเที่ยว เยาวชน และประชาชนที่สนใจ
โดย วรสิทธิ์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทางอพท. จึงให้การสนับสนุนการจัดสร้างศูนย์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรทางทะเลขึ้นในหมู่เกาะช้าง 2 แห่ง คือที่ เกาะหวาย และเกาะรัง โดยในอนาคต ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะไปดำน้ำ จะเปิดให้คณะที่สนใจมาทำการเรียนรู้เกี่ยวกับการดำน้ำที่ถูกวิธี การอนุรักษ์ ทรัพยากรทางทะเลในศูนย์ทั้ง 2 แห่ง โดยใครใกล้จุดไหนก็ไปที่นั่น ซึ่งเมื่ออบรมเสร็จแล้วก็จะมีประกาศนียบัตรให้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความภูมิใจ ศูนย์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรทางทะเล เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์และหวงแหนธรรมชาติต่อนักท่องเที่ยว เพราะสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติว่า ก็คือ การปลูกจิตสำนึกนั่นเอง ผู้อำนวยการ อพท.กล่าวทิ้งท้าย
|